อำเภอชัยบาดาล

     แต่เดิมอำเภอชัยบาดาล มีฐานะเป็นเมืองชั้นโทชื่อ เมืองไชยบาดาล ขึ้นอยู่ในความปกครองของเมืองนครราชสีมา ที่ทำการตั้งอยู่ที่บ้านบัวชุม ตำบลบัวชุม ในปี พ.ศ. 2457 ทางราชการได้ลดฐานะเป็น อำเภอไชยบาดาล โอนการปกครองไปขึ้นอยู่กับเมืองเพชรบูรณ์จนถึงปี พ.ศ. 2461 ได้โอนอำนาจไชยบาดาลไปขึ้นอยู่กับจังหวัดสระบุรี และย้ายที่ว่าการอำเภอไปอยู่บ้านไชยบาดาล ตำบลไชยบาดาล ต่อมาทางราชการได้สั่งโอนอำเภอไชยบาดาลไปขึ้นอยู่กับการปกครองของจังหวัดลพบุรี เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2484 ส่วนตัวสะกดชื่อนั้นได้เปลี่ยนจากคำว่า "ไชยบาดาล" เป็น "ชัยบาดาล" เมื่อปี พ.ศ. 2514 ครั้นปี พ.ศ. 2521 ได้รับเรื่องราวจากกรมทางหลวงแผ่นดิน ขอให้รื้อที่ว่าการอำเภอหลังนี้เพื่อตัดถนนผ่านตัวอาคารที่ว่าการอำเภอ และได้รับอนุมัติให้รื้อถอนได้เมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2521 จึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาอยู่ที่อยู่ปัจจุบันนี้

      อำเภอชัยบาดาลเคยถูกเสนอยกฐานะเป็นอำเภอเมืองของจังหวัดพระนารายณ์ เมื่อปี พ.ศ. 2546 แต่ไม่ได้รับการอนุมัติ และได้มีการเสนอขอจัดตั้งอีกครั้งในปี พ.ศ. 2553 แต่ก็ยังไม่ได้รับการพิจารณา เนื่องจากไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การจัดตั้งจังหวัด

ที่ตั้งและอาณาเขต

อำเภอชัยบาดาลตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับอำเภอข้างเคียง ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอศรีเทพ (จังหวัดเพชรบูรณ์)
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอลำสนธิ
  • ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอมวกเหล็ก (จังหวัดสระบุรี) อำเภอท่าหลวงและอำเภอพัฒนานิคม
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอโคกสำโรง อำเภอสระโบสถ์ และอำเภอโคกเจริญ

การแบ่งเขตการปกครอง

การปกครองส่วนภูมิภาค

อำเภอชัยบาดาลแบ่งเขตการปกครองย่อยออกเป็น 17 ตำบล 136 หมู่บ้าน ได้แก่

1. ลำนารายณ์ (Lam Narai) 12 หมู่บ้าน   10. นาโสม (Na Som) 6 หมู่บ้าน
2. ชัยนารายณ์ (Chai Narai) 6 หมู่บ้าน   11. หนองยายโต๊ะ (Nong Yai To) 8 หมู่บ้าน
3. ศิลาทิพย์ (Sila Thip) 12 หมู่บ้าน   12. เกาะรัง (Ko Rang) 10 หมู่บ้าน
4. ห้วยหิน (Huai Hin) 8 หมู่บ้าน   13. ท่ามะนาว (Tha Manao) 8 หมู่บ้าน
5. ม่วงค่อม (Muang Khom) 11 หมู่บ้าน   14. นิคมลำนารายณ์ (Nikhom Lam Narai) 9 หมู่บ้าน
6. บัวชุม (Bua Chum) 9 หมู่บ้าน   15. ชัยบาดาล (Chai Badan) 8 หมู่บ้าน
7. ท่าดินดำ (Tha Din Dam) 6 หมู่บ้าน   16. บ้านใหม่สามัคคี (Ban Mai Samakkhi) 6 หมู่บ้าน
8. มะกอกหวาน (Makok Wan) 3 หมู่บ้าน   17. เขาแหลม (Khao Laem) 8 หมู่บ้าน
9. ซับตะเคียน (Sap Takhian) 6 หมู่บ้าน

รำโทนที่ตำบลบัวชุมและตำบลหนองยายโต๊ะ รำโทนเป็นการแสดงพื้นบ้านที่นิยมเล่นกันทั่วประเทศไทย ในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี รำโทนได้รับการเชิดชูให้เป็นศิลปะประจำชาติอย่างหนึ่งในสมัยนั้น ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่ารำโทนเกิดขึ้นเมื่อใด ใครเป็นผู้ริเริ่ม แต่ผู้ที่นิยมเล่นรำโทนคือหนุ่มสาวชาวบ้าน กล่าวกันว่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้คนคอยแต่จะอพยพหนีภัยกัน ในยามค่ำคืนจะมืดไปทั่วทุกหนแห่งเนื่องจากรัฐบาลห้ามจุดไฟ ห้ามชุมนุม ประชาชนเกิดความเหงาจึงได้คิดเล่นรำโทนขึ้น วิธีเล่นคือจุดตะเกียงไว้ตรงกลางลาน ผู้แสดงยืนล้อมวงร้องเพลงเกี้ยวพาราสีกันด้วยจังหวะท่วงทำนองที่สั้นๆ ง่าย ๆ ร้องซ้ำ ๆ กันหลายเที่ยว

(Visited 3,302 times, 10 visits today)